Categories
Blog

4 ขั้นตอนในการยกระดับความสามารถในการรับความเสี่ยงจากการลงทุน

ช่วงวันหยุดยาวนี้ได้มีเวลาทบทวนตัวเองในบางเรื่อง มีเรื่องนึงที่ได้ลองทบทวนตัวเองแล้วคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ คือ เรื่องความสามารถในการรับความเสี่ยงจากการลงทุน

แต่เดิมผมเองเป็นคนที่รับความเสี่ยงได้ค่อนข้างต่ำมาก คือ หากขาดทุนแล้วจะไม่สบายใจเอามาก ๆ เลย ต้องมีกำไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ยังดี เลยทำให้ช่วงเริ่มต้นทำงานใหม่ ๆ นี่ จะมีประกันสะสมทรัพย์ซะเยอะ แล้วก็พวกบัญชีฝากออมทรัพย์พิเศษดอกเบี้ยสูงบ้าง

พอถึงวันนี้ย้อนไปกลับไปดูตัวเองอีกที ก็บอกกับตัวเองว่า เรานี่มาไกลจากจุดเดิมเหมือนกันแฮะ เลยมาวิเคราะห์ดูว่า จุดเปลี่ยน ที่ทำให้ตัวเองสามารถรับความเสี่ยงได้มากยิ่งขึ้น มันมีลำดับขั้นตอนยังไง เลยขอมาแชร์ซักหน่อย


1. ทำความเข้าใจในธรรมชาติหรือพฤติกรรมของสินทรัพย์ที่เราจะได้ลงทุน

สินทรัพย์การลงทุนแต่ละประเภทจะมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน และความเป็นไปของสภาพแวดล้อม (หรือธรรมชาติของมัน) ก็แตกต่างกันเช่นกัน ก่อนที่เราจะลงทุนในสินทรัพย์ใด ๆ เราควรทำความเข้าใจมันก่อนว่ามันมีลักษณะอย่างไร กลไลการทำงานคร่าว ๆ มันเป็นอย่างไร ผลประโยชน์ที่ได้มันมาจากไหน และมีโอกาสที่เราจะสูญเสียมันมากน้อยแค่ไหน

โดยการทำความเข้าใจในส่วนนี้ อาจจะเริ่มต้นจาการค้นหาข้อมูลก่อน แล้วทำการอ่าน ฟัง หรือดูก่อนตามแต่ ให้เราพอได้รู้จักกับมันว่ามันคืออะไร

หรือหากไม่ใช่สายอ่าน เป็นสายปฏิบัติ อยากซึมซับประสบการณ์ตรง ก็ทำได้เช่นกัน โดยมีเงื่อนไขในขั้นตอนถัดไป

แต่ก่อนอื่นก็ควรตรวจสอบให้ดีก่อนด้วย ว่าการลงทุนนั้นไม่ใช่การหลอกลวงแต่อย่างใด อย่างเห็นผลตอบแทนเป็นสำคัญ


2. เมื่อยังไม่มั่นใจมาก ให้ลงแต่น้อย เอาเท่าที่เสียหายแล้วไม่เสียดาย

อะไรที่เราคิดว่า เรายังไม่รู้จักมันแน่ชัด อยากทำความรู้จัก เราก็สามารถทำได้ แต่ควรเริ่มแต่น้อย เริ่มที่ขั้นต่ำเราสามารถยอมรับถึงความเสียหายของมันได้ (อาจจะถึงขั้นว่า เสียเงินก้อนนี้ไปทั้งก้อนก็ไม่เป็นไร)

หากขั้นต่ำในการลงทุนสินทรัพย์นั้น เรามองว่าสูงเกินไปสำหรับเราที่จะเสี่ยงในสิ่งที่ยังไม่ค่อยรู้จักมันดี (เช่น อ่าน ฟัง ดู จากคนอื่นมา) ก็อย่าเพิ่งเริ่มต้นลงทุนเลย ศึกษาไปก่อน ระหว่างนั้นก็ทยอยสะสมเป็นเงินทุนไว้สำหรับลงทุนในส่วนที่คิดว่าสามารถเกิดความเสียหายได้ พร้อมในส่วนนี้แล้วค่อยเริ่มก็ได้


3. ร่างแผนการไว้ ตั้งจุดชะลอความโลภ หรือ จุดสกัดความกลัวไว้เสมอ

ร่างแผนการเอาไว้ก่อน เรียบเรียงแล้วเขียนเหมือนพันธะสัญญากับตัวเองเลยยิ่งดี ว่าการลงทุนในครั้งนี้ เรามีแผนการอย่างไร คำถามสำคัญชุดแรก ที่ผมคิดว่าเราควรตอบได้ก่อนคือ

เป้าหมายการลงทุนของเราคืออะไร
ระยะเวลาในการลงทุนนานแค่ไหน
ผลตอบแทนที่คาดหวังเราอยู่ที่เท่าไหร่

และตามมาด้วยคำถามชุดที่สอง แผนการลงทุน

รูปแบบการเข้าลงทุนเป็นแบบไหน เงินก้อน, ทยอยเข้าซื้อ หรือแล้วแต่อารมณ์ก็ยังได้ (คือคิดจะซื้อก็ซื้อ เมื่อมีเงินที่จะลงทุนเพิ่ม) และหากสินทรัพย์เติบโตไปถึงจุดไหนแล้วเราจะนำกำไรออกมาเป็นเป็นการชะลอความโลภของเรา รวมถึงตั้งจุดป้องกันความเสียหายกรณีที่มูลค่าสินทรัพย์มันลดลงเพื่อเป็นการสกัดความกลัวที่เกิดขึ้นกับเรา ตั้งไว้เป็น % หรือจำนวนเงินก็ได้ หากเลยจุดนี้ไปแล้วนำกำไรออกมาหรือขาดทุนถึงจุดนี้แล้วจะขายออกมาก่อน จุดเข้า จุดออกควรมีไว้เช่นกัน


4. ให้เวลากับมัน ค่อย ๆ ทำความเข้าใจ

เมื่อได้เริ่มต้นลงทุนแล้ว พยายามให้เวลากับมันตามที่ได้ตั้งเจตนาไว้ ค่อย ๆ เรียนรู้และทำความเข้าใจไปเรื่อย ๆ เมื่อมีความรู้ ความเข้าใจมากขึ้น ความมั่นใจก็จะตามมา ความกล้าที่จะลงทุนก็จะมากขึ้น ค่อย ๆ เติมเงินเข้าไป หรือทำตามแผนที่วางไว้ เมื่อเวลาผ่านไปเราจะรู้จักมันได้ดียิ่งขึ้น เริ่มจะชินกับพฤติกรรมของสินทรัพย์นั้น ความสามารถในการรับความเสี่ยงก็จะสูงขึ้นตาม


ทั้งหมดนี้ก็เป็นขั้นตอนที่ผมได้นำมาใช้ตัวเอง หากอ่านดูแล้วคิดว่าเป็นแนวทางที่น่าสนใจ ก็สามารถลองนำไปปรับใช้กันดูได้นะครับ

ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง หากคิดว่าสิ่งที่เราลงทุนนั้นมีความเสี่ยงเกินกว่าที่เราจะรับไหว 2 อย่างที่เราสามารถทำได้คือ

ไม่ต้องไปลงทุน
กับ
ยกระดับความสามารถในการรับความเสี่ยงของเรา

Facebook Comments