Categories
Blog

12 บทเรียน จากการลงทุนกองทุนรวม 12 เดือน

เอาเข้าจริง ๆ ผมเพิ่งเริ่มต้นลงทุน ด้วยการซื้อกองทุนรวม มาได้ 1 ปี นิด ๆ โดยใช้เวลาศึกษาในเรื่องของกองทุนรวมประมาณ 3 – 4 เดือน แล้วเริ่มจัดพอร์ต และ 12 ข้อด้านล่างนี้เป็นข้อคิดที่ได้จากการลงทุนใน 1 ปีที่ผ่านมา


1.ซื้อกองทุนตอน IPO ไม่ได้ดีเสมอไป ใช่ว่า NAV ถูกแล้วคือดี

เวลากองทุน IPO ใหม่ ๆ เปิด จะตั้งราคาเริ่มต้นไว้ที่ 10 บาท เราก็คิดว่า ซื้อที่ราคาถูกนั้นคือดี แต่แท้จริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ Link นี้อธิบายได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว >> https://goo.gl/51Ye42


2.อยากเริ่มลงทุนระยะยาว แต่ไม่รู้ซื้อกองไหนดี กองดัชนีเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม

หากอยากจะเริ่มต้นออมเงินในกองทุนรวม หลาย ๆ คน ก็คงคิดว่าจะซื้อกองไหนดีนะ ผมเองเห็นคำตอบของคำถามนี้มาค่อนข้างเยอะ คำแนะนำส่วนใหญ่จะจบที่ กองดัชนี (ส่วนกองดัชนีคืออะไร อ่านได้ใน Link นี้ได้เลย https://goo.gl/EJioPN) ซึ่งผมเองก็เห็นด้วยและส่วนตัวก็ซื้ออยู่เป็นสัดส่วนนึง ข้อดีตั้งแต่ซื้อมาคือไม่ต้องคิดมากเพราะมันจะเติบโตไปตามเศรษฐกิจของประเทศอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะเหมาะกับการลงทุนในระยะยาว (10 ปี 20 ปี)


3. ลงทุนระยะสั้นกลาง ไม่ต้องคิดเยอะกับค่า TER

อันนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวล้วน ๆ ของผมเลยนะ (นิยามสั้น ๆ ของ TER ก็คือ ค่าใช้จ่ายที่กองทุนเรียกเก็บ แต่จะทำการเฉลี่ยหักออกจาก NAV ในทุก ๆ  วัน ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานกองทุน )

ผมคิดว่า ถ้าจะลงทุนระยะสั้นกลาง (3 – 5 ปี) แล้วต้องการผลตอบแทนที่สูง (นั่นหมายถึงเรารับความเสี่ยงได้สูงด้วย) กองทุนตราสารทุน แบบ Active น่าจะเป็นคำตอบที่ตรงโจทย์ที่สุด และกองประเภทนี้มักจะมีค่า TER ที่ค่อนข้างสูง และหากเราไม่คิดว่าจะลงทุนนาน การกังวลกับค่า TER มากเกินไปก็ไม่น่าจะเหมาะสมนัก เพราะวัตถุประสงค์คือลงทุนระยะสั้นกลาง เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูง ดังนั้นค่าธรรมเนียมจึงเป็นปัจจัยที่ไม่ควรกังวลมาก ดู Performance และแนวโน้มน่าจะดีกว่า


4.พอร์ตเป้าหมายระยะยาว ไม่ควรมีกองปันผล

เป้าหมายระยะยาวนั้นเหมาะกับการเก็บสะสมมูลค่า มากกว่าที่จะรับปันผลออกมา เพราะหากเราได้รับปันผลระหว่างทาง เราอาจจะนำปันผลนี้ไปใช้ได้ ซึ่งมันไม่ได้ถูกเก็บหรือนำไปลงทุนต่อ

แต่บางคนอาจจะมองว่า ก็ได้ปันผลแล้วนำไปลงทุนต่อก็ได้ << ข้อคิดเห็นในส่วนนี้คือ ในเมื่อเราจะนำเงินปันผลไปลงทุนต่อ แล้วเราจะเลือกที่รับปันผลที่ผ่านกระบวนการหักภาษีไปเพื่ออะไร


5.การซื้อกองทุนด้วยเงินก้อนเดียว ไม่เหมาะกับกองตราสารทุน

เนื่องจากกองตราสารทุนมีลักษณะที่ผันผวน การจะนำเงินก้อนไปซื้อทีเดียวนั้น อาจจะทำให้เราไปซื้อในจุดที่สูงแล้วก็ได้ ดังนั้นควรทำการแบ่งเงินออกเป็นส่วน ๆ แล้วเข้าทยอยซื้อน่าจะเหมาะสมกว่า เพื่อเฉลี่ยราคาซื้อ


6.กองตราสารหนี้ไม่ใช่ว่าจะบวกเสมอไป

ไม่รู้จะเรียกว่าเป็นจังหวะที่ดีหรือเปล่า ที่ผมเริ่มต้นลงทุนในปี 61 นี้ และเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์ที่ตราสารหนี้มีความผันผวนมากกว่าปกติ จึงทำให้ได้อยู่ในเหตุการณ์ที่กองตราสารหนี้ติดลบได้ยาวนานเป็นหลักเดือน ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ค่อยจะได้เห็นปรากฏการณ์นี้ซักเท่าไหร่ แต่เป้าหมายระยะกลาง ผมคิดว่าก็ยังเป็นบวกได้อยู่ เพียงแต่ระหว่างทางอาจจะมีติดลบบ้าง


7.กองทุนรวมตลาดเงินเป็นที่พักเงินที่ดีสำหรับเงินรอลงทุน

หากมีเงินที่ไว้สำหรับรอลงทุน ผมว่าการนำเงินมาใส่ไว้ในกองทุนรวมตลาดเงินนั้น ดีกว่าใส่ไว้ในออมทรัพย์ มันเงินในกองทุนรวมตลาดเงินนั้นเติบโตเกือบทุกวัน แถมไม่เสียภาษีเหมือนอย่างบัญชีออมทรัพย์ส่วนใหญ่ เพียงแต่สภาพอาจจะต่ำกว่า คือเป็น T+1 แต่ถ้าวางแผนกันดี ๆ ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรมากในการขายออกเพื่อมาซื้อกองทุนอื่น ๆ


8.กองที่เคยดี ใช่ว่าจะดีตลอดไป

หลาย ๆ ครั้งเรามักเผลอติดใจว่ากองทุนใดกองทุนนึงเป็นพิเศษ ทำให้ละเลยที่จะมองหากองใหม่ ๆ ใน 1 ปีที่ผ่านมา ผมเองเคยมีถูกใจกองทุนกองนึง ซึ่งแรก ๆ Performance ค่อนข้างดี แต่หลัง ๆ drop ลงไปมาก จึงต้องตัดสินใจขายออกส่วนนึงเพื่อนำเงินไปซื้อกองอื่น ที่ดูแล้วมี Performance ที่ดีกว่า


9. ไม่ควรใช้ TAA กับพอร์ตระยะยาว ใช้ SAA กับ DCA ไปเรื่อย ๆ ดีกว่าสบายใจ

หากเป้าหมายลงทุนเราเป็นเป้าหมายระยะยาว การใช้ TAA ที่ขยับพอร์ตของเราอยู่บ่อย ๆ นั้น สร้างความยุ่งยากในการบริหารพอร์ตอยู่พอสมควรจากที่ลองทำเอง และทำให้คิดว่าถ้าจะลงทุนระยะยาวจริง ๆ ใช้ SAA ดีกว่า เลือกกองที่มีแนวโน้มตามสภาพเศรษฐกิจ แล้ว DCA ทยอยเข้าไปเรื่อย ๆ ดีกว่าสบายใจ ไม่ต้องปรับให้ยุ่งยาก

 

(TAA กับ SAA คืออะไร ลองอ่านจากในนี้ดูนะครับ >> https://bit.ly/2OofM9T)


10.กระจายความเสี่ยงในหลาย Asset Class เป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่ง

ผมคิดว่า การทำ Asset Allocation เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก *ที่ทุกคนที่ลงทุน* ต้องทำ เพราะความไม่แน่นอนในโลกแห่งการลงทุนนั้นมีมาเสมอ การแบ่งสัดส่วนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่รับได้

ลองอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่เคยเขียนไว้ที่ Link นี้ดูครับ >> https://bit.ly/2rXms0O


11. สิ่งที่ต้องทำก่อนการจัดพอร์ต คือการประเมินความเสี่ยงที่ตนรับได้ ไม่งั้นอาจไม่ถึงฝั่ง เลิกการลงทุนไปก่อน

เวลาไปเปิดบัญชีกองทุนที่บลจ. เจ้าหน้าที่จะให้เรากรอกแบบฟอร์มประเมินความเสี่ยงไว้ ดูเหมือนมันไม่สำคัญ แต่จริง ๆ หากคุณลงทุนมาระยะนึงแล้ว จะรู้ว่ามันสำคัญ เพราะเมื่อใดที่เราลงทุนไปสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูงกว่าที่เรารับได้ และมันเกิดเหตุที่มูลค่ามันลดลง เราจะทนถือมัน และเมื่อมันกลับตัวขึ้นมานิดหน่อย เราจะรีบขายมันออกไป โดยที่อาจจะไม่ผลตอบแทนกลับมาเลย

ใครที่อยากประเมินความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนตัวเอง ลองเข้าไปทำตามขั้นตอนนี้ดูได้นะครับ >> https://bit.ly/2CjqG9A


12. สิ่งที่ต้องทำหลังจัดพอร์ต และเริ่มต้นลงทุน คือการประเมินพอร์ตของตนเอง

เมื่อเราได้ทำ Asset Allocation ไปแล้ว ซื้อกองทุนตามสัดส่วนไปแล้ว ในทุก ๆ ช่วงระยะเวลานึง (ที่ไม่ใช่ทุกวัน เช้า-เย็น) เราควรที่จะทำการ Monitor ดูพอร์ตของตัวเอง และทำการเทียบกับแผนที่วางแผนว่า ตอนนี้เป็นไปถึงไหนแล้ว และมีความจำเป็นไหมที่ต้องมีการปรับแผน ควรทำ Balancing ไหม ไม่ควรปล่อยไปเรื่อย ๆ อย่างน้อย 6 เดือนครั้งหรือปีละครั้งก็ยังดี 🙂


คิดเห็นต่างอย่างไร ยินดีรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันนะครับ 🙂

Facebook Comments