ช่วงนี้ได้ฟังเรื่องราวจากหลายคน (และได้พูดคุยกับบางคน) ที่อยากจะ Early Retire คือไม่อยากทำงานแล้ว อยากหยุดออกมาหาอะไรทำเล็ก ๆ น้อย ๆ และผมก็มักจะมีคำถามเหล่านี้อยู่ในใจ บางคนสามารถถามได้ก็ถามไป เพื่อให้เค้าได้ลองทบทวนตัวเองอีกซ้ำ ๆ และสร้างความมั่นใจเพิ่มขึ้นว่า เค้ามีแผนพร้อมแล้วจริง ๆ ใช่ไหมที่จะ Early Retire
ใครที่มีความคิดที่อยากจะ Early Retire อยากให้ลองตรอง ตอบคำถามเหล่านี้ดู
หลังเกษียณจะทำอะไร ?
ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการเงินก่อนนะ เอาเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันก่อน คำถามนี้เป็นคำถามที่ผมคิดว่าเราควรตอบให้ได้ชัด ๆ ก่อนว่าเราจะทำอะไร ไม่ใช่ว่าเดี๋ยวค่อยคิดหรือขอคิดดูก่อน เพราะถ้าหากเราคิดจะ Early จริง ๆ แล้ว ผมว่ามันควรชัดในระดับที่ว่า เราได้เริ่มทำอะไรเหล่านั้นมาแล้วจนเราเห็นภาพหรือรับรู้ได้ว่าสิ่งที่ทำนี่แหล่ะ หรือการใช้ชีวิตแบบนี้แหล่ะที่เราจะสามารถทำมันได้หากเกษียณ และเราก็รู้สึก Enjoy กับชีวิตในแบบนี้
แต่ถ้าหากมีความคิดที่ว่า ก็เกษียณแล้ว ไม่ต้องทำอะไร กิน ๆ นอน ๆ ออกเที่ยว ดูหนัง ดูซีรีย์ ส่วนตัวผมไม่คิดว่าเราจะใช้ชีวิตแบบนี้ได้นานนะ อย่างมากก็ 6 เดือน แล้วเราก็จะเบื่อมันเอง (อันนี้จากประสบการณ์ส่วนตัว และจากที่ได้อ่าน ได้ฟังประสบการณ์ของคนอื่นที่ผ่านจุดนี้มาแล้ว หลายคนรู้สึกแบบนั้นจริง ๆ )
จะเอาเงินจากที่ไหนมาใช้ ?
มาในส่วนของเรื่องการเงินกันบ้าง คำตอบหลัก ๆ ที่ได้ก็คือ เงินเก็บ ซึ่งคำถามต่อมาที่อยากให้คิดต่อคือ “คิดแล้วใช่ไหม ว่ามันพอจริง ๆ” ถึงแม้ว่าบางคนบอกว่าตัวเองนั้นเป็นคนไม่ค่อยใช้เงิน อย่างมากเดือนละ 10,000 บาท ถ้าไม่ต้องออกไปทำงาน ดีไม่ดีอาจจะประหยัดกว่านั้นอีก
สิ่งที่อยากให้คิดต่อคือ อันนี้คือค่าใช้จ่ายเราคนเดียว แล้วเรามีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเพื่อ support คนอื่นอีกไหม (สามีภรรยา ลูกหลาน พ่อแม่ พี่น้อง ญาติที่ต้องดูแล) เมื่อเราไม่มีรายได้ เราสามารถหยุด support เค้าจริง ๆ ได้ใช่ไหม
และอีกปัจจัยนึงที่มักจะลืมกันคือ เงินเฟ้อ สมมุติอยาก Early ตอนอายุ 40 คิดว่าตอนนั้นจะใช้เดือนละ 10,000 บาท ปีละ 120,000 บาท พอเจอเงินเฟ้อ 20 ปี เข้าไป (สมมุติคิดเงินเฟ้อ 3%) ตอนอายุ 60 ก็ต้องใช้ปีละประมาณ 200,000 บาท รวมกัน 20 ปี ก็ 3 ล้านกว่า แล้วยังมีหลังอายุ 60 อีก ตรงนี้มีเงินเก็บพอจริง ๆ แล้วใช่หรือไม่
สำหรับข้อนี้จะไม่น่าเป็นห่วงเลย หาก Early ไปแล้ว แต่สามารถกระแสเงินสดเข้ามาได้ตลอด ๆ อย่างน้อยรายได้ขั้นต่ำต่อปีควรมากกว่ารายจ่ายต่อปี หรือ Cash Flow รายปีเป็นบวก << ถ้ามั่นใจว่าทำแบบนี้ได้แน่นอน ปิดหน้านี้ไปเลย ไม่ต้องอ่านต่อแล้ว 😀
จะจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ยกตัวอย่างเคสที่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้คือ เวลาเจ็บป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาล เงินเก็บที่เรามีอยู่นั้นได้มีสำรองเผื่อเรื่องราวนี้อยู่แล้วใช่ไหม ค่ารักษาพยาบาลหากเข้าโรงพยาบาลตอนนี้ (ปี 62) เท่าที่เห็นกันอยู่ ก็รู้ว่าตอนนี้มันโหดแค่ไหน หากต้องนำเงินส่วนนี้มาใช้จ่ายเงินที่เหลือมันเพียงพอหรือไม่ต่อการใช้ชีวิตที่เหลือ หรือเราคิดว่าเราเพียงพอต่อการใช้สวัสดิการโรงพยาบาลรัฐฯ (อย่าเพิ่งตอบว่า “คิดว่าได้นะ” เคยไปลองใช้มาแล้วบ้างรึยัง ?)
รวมถึงความเสี่ยงของคนใกล้ตัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นโรคร้ายแรงไหม หรือต้องได้รับดูแลจากแพทย์เป็นพิเศษไหม ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เราต้อง support เค้ามากน้อยแค่ไหน
เรื่องความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นนี้ ไม่อยากให้มองบวกให้มากเกินไป อย่ามั่นใจเกินไป การที่เราคิดประเมินเผื่อไว้ก่อนมันดีกว่าสำหรับเรื่องนี้
เมื่อมีความอยาก ความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินก้อนใหญ่ เราจัดการมันยังไง ?
โดยเฉพาะความอยากกับสิ่งของที่มีมูลค่าสูง เช่น รถ เราสามารถที่จะไม่มีมันได้ใช่ไหม หรือถ้ามีแล้วเราสามารถดูแลมันให้ใช้ได้นานรึป่าว หรืออย่างการไปท่องเที่ยวต่างประเทศ เราเห็นเพื่อน ๆ เค้าไปกันเราก็อยากไป ยิ่งมีเวลาเหลือเฟือก็สามารถไปเที่ยวได้บ่อย ๆ แต่ก่อนไป เรามีคิดเผื่อ budget เหล่านี้ไว้แล้วใช่ไหม
กับอีกส่วนคือความจำเป็นที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ที่อยู่อาศัยที่เราอยู่ มันต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษามากน้อยแค่ไหน ต้องเปลี่ยนต้องซ่อมอะไรบ้าง มีความถี่ขนาดไหน เช่น หลอดไฟ ก๊อกน้ำ เครื่องใช้ไฟฟ้า ตู้ เตียง ฯลฯ เพราะสินค้าบางรายการ มีมูลค่าหลักพัน หลักหมื่น ก็มีผลกระทบต่อรายจ่ายพอสมควร
ผมคิดว่าค่าใช้จ่ายในหัวข้อนี้ มักเป็นค่าใช้จ่ายที่เรามักไม่คิดถึง และเราก็ไม่ได้รวมมันอยู่ในค่าใช้จ่ายรายเดือนแน่นอน แต่มันจะเป็นค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจริง เมื่อถึงกาลเวลาของมัน และในบางครั้งมันมี cost ที่เราคาดไม่ถึง
หวังว่าคำถามเหล่านี้ น่าจะช่วยกรองความคิดให้เข้มข้นขึ้น เพื่อให้สถานะการเงินของเราพร้อมต่อการวางแผนที่จะ Early Retire จริง ๆ