Categories
CFP Diary

CFP Diary EP7 : การอบรม การสอบ CFP Paper 2

ตั้งแต่สอบ CFP Paper 1 เสร็จตั้งแต่ พ.ย. ปีที่แล้ว หลังจากนั้นก็หยุดสอบไปยาวเลย เพราะเข้าหลักสูตรอบรมเพื่อเป็นนักวางแผนการเงินของทีม Avenger Planner (ตอนนี้อยู่ในช่วงเป็น Assistant Planner หรือผู้ช่วยนักวางแผนการเงิน นั่นเอง)

เนื่องจากการจะเป็น Planner ของทีมนั่น มีคุณสมบัติข้อหนึ่งที่จำเป็นต้องมีคือ ใบอนุญาตวางแผนการลงทุน หรือ IP ซึ่งจะได้มาการสอบผ่านเกณฑ์ P1 P2 P3 และ CFP Paper 1 และ 2 ถึงจะสามารถขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตได้

ในส่วนของการสอบ Paper 2 นั่นจะเป็นเรื่องของการวางแผนการลงทุน ซึ่งหากมี IC License หรือเป็นใบอนุญาตแนะนำการลงทุน ก็สามารถเวฟไม่เข้าอบรมได้ (แต่ยังคงต้องสอบอยู่นะ) แต่ว่าผมเลือกที่จะเข้าอบรมดีกว่า


การอบรมกับ AIMC

ครั้งนี้ผมเลือกอบรม AIMC เพราะ 1. ผู้สอนคือ คุณเอ ศักดา สรรพปัญญาวงศ์ Founder ของเว็บไซต์ A-academy ที่ทำให้ผมเริ่มลงทุนด้วยความเข้าใจมากขึ้น
และ 2. ผมอยากลองอบรมกับหลาย ๆ สถาบันดู (Module 3-4 ว่าจะสมัครอบรมกับ CMSK) จะได้มารีวิวว่าแต่ละที่แตกต่างกันอย่างไร

ค่าอบรม Module 2 ของ AIMC นั้นอยู่ที่ 7,000 บาท (สมัครตอนมี Promotion Early Bird พอดี) ซึ่งถือว่าราคาดีกว่าของสถาบันอื่น แต่ก็เป็นเหตุเป็นผล เพราะว่า

  1. สถานที่อบรมนั้นคือที่ ห้องบรรยาย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) ไม่ได้เป็นห้องบอลลูมโรงแรม
  2. ไม่มีบริการอาหารเช้า อาหารกลางวัน ของว่าง ของเบรคให้ (แต่มี 7-11 ใต้ตึกไปซื้อกินเองได้)
  3. มีค่าบริการที่จอดรถ (แต่ก็เดินทางสะดวก เดินจาก MRT สถานีเพชรบุรีได้ไม่ไกลนัก) หากนำรถไปจะมีค่าบริการที่จอดรถเพิ่มเติมวันละ 100 บาท

ใช้เวลาในการอบรม 3 วันเหมือนกัน ตั้งแต่ 8.00 – 17.00 น. วันแรกลงทะเบียน ทาง AIMC จำเอกสารให้ครบถ้วนดี มีกระเป๋าพร้อมกับเอกสารหนังสือหลักสูตรวางแผนการเงิน : ชุดวิชาที่ 2 การวางแผนการลงทุน เล่มหนา ๆ 1 เล่ม (532 หน้า) และเอสการ Slide ประกอบการอบรมอีก 1 เล่ม

ในส่วนของวิทยากรนั้น ทั้ง 3 วัน สอนโดยวิทยากรคนเดียว โดยเริ่มกันตั้งแต่หัวข้อที่จะสอบมีอะไรบ้าง และลงรายละเอียดเนื้อหาในแต่ละหัวข้อ ซึ่งอาจารย์จะเริ่มสอนในส่วนของทฤษฏีก่อน จากนั้นหัวข้อไหนที่สามารถเสริมด้วยภาคปฏิบัติได้ อาจารย์ก็จะเสริมให้ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นหัวข้อที่จะออกสอบ แต่เป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ในการทำงานวางแผนการเงินจริง ๆ ได้

หลังเรียนจบ วันที่ 3 จะมีการทำ Quiz ไว้วัดผลความเข้าใจการอบรม แต่ไม่ได้มีเกณฑ์ผ่านไม่ผ่านแต่อย่างใด


การสมัครสอบ

การสมัครสอบใน Paper 2 นั้นจะเหมือนกับ Paper 1 เพียงแต่ว่าค่าสอบของ Paper 2 นั้น จะสูงกว่า Paper 1 อยู่ 1,000 บาท หรือ ค่าสอบคือ 3,000 บาทนั่นเอง

ใครที่อบรมเสร็จแล้ว ทางสถาบันจะส่งชื่อไปที่สมาคม ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ถึงจะสามารถสมัครสอบได้ (ผมแนะนำให้รีบสมัครสอบ เพราะบางครั้งเต็มเร็วมาก)


การเตรียมตัวสอบ

สอบครั้งนี้ผมมีเวลาเตรียมตัวค่อนข้างน้อย คือมาอ่านหนังสือก่อนสอบ 1 สัปดาห์ (ไม่แนะนำให้เอาแบบอย่างนะครับ) เนื่องจากการสอบ Paper 2 นั้น มีหัวข้อที่ไม่ได้เรียนในหลักสูตรอบรม คือ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและการให้คำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสม หลักสูตรผู้แนะนำการลงทุนตราสารทั่วไป ซึ่งต้องอ่านหนังสือเล่มด้านล่างเพิ่มเอง

และอ่าน Slide ที่ไปอบรมมา เพื่อทบทวนความเข้าใจใหม่ในเนื้อหาที่ได้ไปอบรมมาเมื่อ 2 เดือนก่อน ไม่ได้อ่านหนังสือเล่มใหญ่ขึ้นมาอ่านเลย เพราะอ่านไม่ทันจริง ๆ – -“

ก่อนสอบ 1 วัน เริ่มมีแอบคิดว่าจะอ่านไม่ทัน แต่เนื่องจากไม่อยากสอบอีกรอบแล้ว เลยตั้งใจว่าจะสอบครั้งเดียวให้ผ่าน เลยมาวางแผนว่าจะอ่านหัวข้อไหน กี่รอบ แล้วทำสรุปสั้น ๆ ไม่กี่หน้า A4 เพื่อไว้อ่านเช้าวันสอบอีกที

สรุปที่ผมอ่านไปคือ จรรยาบรรณ 1 รอบ สรุปจรรยาบรรณ 3 รอบ และ Slide อบรม 2 รอบ กับอ่านสรุป Slide ก่อนสอบ 2 รอบ


วันสอบ

สอบครั้งนี้ สอบที่ อาคาร 31 อาคารเรียนรวม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ใกล้ ๆ กับตึกที่อบรมเลย) ผมไปลงทะเบียนตั้งแต่ช่วงพักเที่ยง เพราะเริ่มสอบ 13.30 มีเจ้าหน้าที่ Stand By รอรับลงทะเบียนอยู่ เพราะช่วงเช้ามีสอบ Paper 1

การสอบรอบนี้แบ่งออกเป็นหลายห้องหน่อย ดังนั้นจำเป็นที่ต้องตรวจสอบห้องสอบด้วยว่า สอบห้องไหน ชั้นไหน รวมถึงเลขที่นั่งสอบด้วย (ผมได้ยินบางคนหาห้องสอบไม่เจอ อยากให้ตรวจสอบส่วนนี้กันดี ๆ นะครับ)

ห้องสอบเริ่มให้เข้าได้ตอน 13.00 เพื่อเข้าไปนั่งรอได้ ก่อนเริ่มสอบประมาณ 10 นาที เจ้าหน้าที่จะแนะนำลำดับวิธีการทำข้อสอบ

ข้อสอบมี 85 ข้อ ให้เวลา 3 ชั่วโมง เกณฑ์การผ่านคือ 70% และเฉพาะส่วนจรรยาบรรณก็ต้องได้มากกว่า 70% เช่นกัน

เริ่มทำข้อสอบ ผมเปิดหาส่วนจรรยาบรรณก่อน ซึ่งอยู่ส่วนท้ายของข้อสอบ << ตรงนี้เป็นเทคนิคที่ผมใช้มาตลอดและอยากจะแนะนำให้ทุกคนใช้ เพราะส่วนนี้เป็นส่วนที่ใช้เวลาไม่มาก เนื่องจากไม่มีคำนวณและจำเป็นที่ต้องทำให้ผ่าน หากมัวเสียเวลาอยู่กับข้อหน้า ๆ ที่มีข้อคำนวณอยู่ อาจจะทำในส่วนนี้ไม่ทันได้ << ผมใช้เวลากับข้อสอบส่วนจรรยาบรรณประมาณ 20 นาทีได้

จากนั้นเริ่มกลับมาเริ่มทำตั้งแต่ข้อ 1 ใหม่ ไล่ไปเรื่อย ๆ ข้อไหน ติดนาน, ไม่ choice ให้กา, ไม่มั่นใจ ให้ mark ไว้ ข้ามไปก่อน แล้วค่อยกลับมาทำใหม่

จากนั้นมานั่งนับข้อที่ mark ไว้ดู ว่ามีกี่ข้อ เราก็พอจะทราบคร่าว ๆ ของเราแล้วว่าทำได้หรือไม่ได้ แล้วกลับมาทำข้อที่เหลืออยู่ต่อ

ผมทำข้อสอบเสร็จก่อนเวลาประมาณ 40 นาที ข้อไหนที่คิดไม่ออกจริง ๆ ก็มั่วไปเลย (55+) ไม่อยากนั่งรอ เพราะก่อนหมดเวลาสอบ 30 นาที หากทำข้อสอบเสร็จช่วงนั้นจำเป็นต้องนั่งอยู่ในห้องสอบก่อน เลยรีบออกก่อนดีกว่า


ประกาศผลสอบ

ผลสอบรอบนี้ออกมาไวมาก หลังสอบ 1 สัปดาห์ (เท่าที่ผมทราบ รอบก่อนหน้าคือ เกือบ 1 เดือน) ผมทราบข่าวก่อนเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่ไปสอบด้วยกันเมื่อวานนี้ตอนเช้า

ผลที่ได้ก็คือ ผ่าน

เท่าที่ทราบมา คนสอบรอบที่แล้วบอกว่าคำนวณเยอะ แต่รอบนี้ไม่เยอะมาก จึงใช้เวลาน้อยกว่าได้ และค่าเฉลี่ยคะแนนคือ 69% ประมาณว่า เกณฑ์คนที่สอบผ่านคือ 50% (ตามสถิติที่ทราบมาคือ 25%)

จึงขอแนะนำให้คนที่สอบเตรียมตัวกันดี ๆ โชคดีในการสอบครับ 🙂

Facebook Comments