Categories
Blog

เตรียมรับมือสังคมผู้สูงอายุผ่านการวางแผนการเงิน

ระยะหลังมาผมได้อ่าน report การคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวใน 10 – 20 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งหลาย ๆ ที่ก็วิเคราะห์กันว่าจะก่อให้เกิดปัญหาสังคมในหลาย ๆด้าน

แต่ส่วนตัวผมเองกลับคิดว่า หากเราเตรียมความพร้อมกันที่จะเป็น ผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ ก็น่าลดความรุนแรงของปัญหาสังคมผู้สูงอายุได้

ที่นี้ในความเห็นผม การที่จะเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพนั้น ควรจะเป็นยังไง และมีแนวทางอย่างไรบ้าง (ซึ่งแน่นอน ต้องมีเรื่องของการวางแผนการเงินมาเป็นส่วนประกอบ)


1. สามารถพึ่งพาตนเองได้

เมื่อเกษียณหรือหยุดทำงานไปแล้ว เราควรมีเงินเก็บที่เพียงพอต่อการใช้จ่ายของเรา ไม่ควรรอเงินจากลูกหลาน (แต่ถ้าลูกหลานมีน้ำใจให้เรา เราก็รับไว้ จะนำไปทำอะไรก็อีกเรื่องนึง) เพราะผมคิดว่าต่อไปในอนาคต ค่าครองชีพมันจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ หากลูกหลานจำเป็นที่ต้องให้เงินเราตลอด อาจสร้างปัญหาทางการเงินให้กับเค้าได้ และมันก็จะเป็นสาเหตุของปัญหาเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย

เราควรที่จะวางแผนการเกษียณ คิดกันคร่าว ๆ ว่าเราควรมีเงินเก็บเท่าไหร่ โดยจะคำนวณจาก https://www.set.or.th/project/caltools/www/html/retirement.html ดูก็ได้ครับ


2. ดูแลสุขภาพและบริหารจัดการความเสี่ยงตั้งแต่เนิ่น ๆ

เท่าที่ผมทราบ การเจ็บไข้ได้ป่วยของผู้สูงอายุนั้นสร้างผลกระทบค่อนข้างสูงให้กับครอบครัว เนื่องด้วยค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลนั้นสูงและมีความถี่ในการพบแพทย์ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป่วยเป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ

วิธีการที่ดีคือ เราควรดูแลสุขภาพของเราตั้งแต่วันนี้ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารอย่างมีสติ และควรบริหารจัดการความเสี่ยงเรื่องค่ารักษาพยาบาทตั้งแต่เนิ่น ๆ ทำประกันสุขภาพไว้ในช่วงที่สุขภาพร่างกายยังแข็งแรงดีอยู่ รวมถึงประกันโรคร้ายแรงและประกันอุบัติเหตุ หากแก่ตัวไปเป็นอะไรไป จะได้ไม่กระทบกับการเงินของตนเองและลูกหลานมากนัก ดูแลตนเองให้ดี พยายามพึ่งตนเองให้มาก


3. หากิจกรรมทำ อย่าปล่อยให้ว่างเกินไป

ผมอยากแนะนำให้ลองนั่งคิดดู ว่าหากเราไม่ทำงานแล้ว เราจะทำกิจกรรมอะไร อย่าปล่อยตัวเองนั่งอยู่บ้านเฉย ๆ ปล่อยเวลาไปเรื่อย ๆ เลย เชื่อผม มันไม่ได้สนุกนักหรอก 🙂

เตรียมความพร้อมของตัวเอง ว่ากิจกรรมอะไรที่เราสามารถทำได้หลังเกษียณ ถ้าสร้างรายได้ให้กับเราด้วยก็ยิ่งดี ไม่ต้องมากก็ได้ เอาให้กระชุ่มกระชวยหัวใจ หรือจะเป็นกิจกรรมที่สร้างประโยชน์แก่สังคม ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ คือไม่ก่อปัญหาแล้ว แถมยังสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมด้วย เป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง


4. จัดการหนี้สิน ทรัพย์สินให้เรียบร้อย

ก่อนที่จะเกษียณหรือหยุดทำงานไป อย่างน้อย ๆ เราไม่ควรมีหนี้สินค้างไว้ เพื่อสืบทอดให้กับลูกหลานต่อ (ยกเว้น หนี้สินสำหรับธุรกิจ ที่สร้างกระแสเงินสด/รายได้ให้กับครอบครัว)

วางแผนการเงิน เคลียร์หนี้สินให้หมดก่อนที่จะไม่มีรายได้ประจำเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น หนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคลรวมถึงหนี้นอกระบบอื่น ๆ

ทรัพย์สินต่าง ๆ ก็ควรที่จะจัดสรรให้เรียบร้อยว่าจะยกอะไร ให้ใคร เท่าไหร่บ้าง เพราะถึงเวลานั้นเราควรจะเห็นว่าเรามีอะไรอยู่ในมือแล้วบ้าง อย่าปล่อยให้เรื่องทรัพย์สินซึ่งเป็นเรื่องดี ๆ สร้างปัญหาย่อม ๆ ให้กับครอบครัวเลยนะครับ 🙂


หากทำได้ 4 ข้อนี้ ผมเชื่อว่า เราจะช่วยลดการสร้างปัญหาสังคมผู้สูงวัยได้มากเลยทีเดียว ปัญหาสังคมจะเบาบางลง หากเริ่มต้นที่ตัวเราทุกคนนะครับ



Facebook Comments