Categories
Blog

ว่าด้วยเรื่องของกองทุนปันผล กับ กองทุนสะสมมูลค่า (ไม่ปันผล)

[หมายเหตุ : ในบทความนี้มีการกล่าวถึงชื่อกองทุนเพียงเพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ได้เป็นการชี้นำว่าเป็นกองทุนที่ควรเข้าซื้อหรือไม่ควรเข้าซื้อแต่อย่างใด]

เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันบ่อยครั้งว่า เลือกกองปันผล หรือกองไม่ปันผลดี เรียกได้ว่า ติดแฮชแท็ก แบ่งทีมกันได้เลย

เลยอยากจะมาชวนกันดูซักหน่อยว่า กองทุน 2 ลักษณะนี้ มันแตกต่างกันยังไง มีเรื่องอะไรที่เราควรพิจารณาก่อนซื้อบ้าง


ธรรมชาติของกองทุนปันผลและสะสมมูลค่า

ผมขอยกตัวอย่างการดูพฤติกรรมของกองทุนปันผลและสะสมมูลค่า ผ่านกองทุนฝาแฝดคู่นึงที่มีวันจดทะเบียนวันเดียวกัน ค่าธรรมเนียมเท่ากัน พอร์ตการลงทุนเหมือนกัน ทุกอย่าง เพียงแต่ นโยบายปันผลแตกต่างกัน ่

กองทุนฝาแฝดคู่นี้คือ KT-PIF-A กับ KT-PIF-D หรือเป็นกองทุนที่มีการแบ่ง Class กัน  (A คือ Accumulation ชนิดสะสมมูลค่า , D คือ Dividend ชนิดจ่ายเงินปันผล)

เราจะมาเปรียบเทียบกัน ว่าตั้งแต่ก่อตั้งมา พฤติกรรมของทั้งคู่เป็นอย่างไร

ที่มา https://www.finnomena.com/fund/compare?fund=KT-PIF-A,KT-PIF-D

หากดูจากรูปด้านบนจะเห็นได้ว่า การเติบโตของ KT-PIF-D นั้น น้อยกว่า KT-PIF-A ต่างกันเกือบ 30% นั่นเป็นเพราะว่า ระหว่างทางในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มันถูกปันผลมาตลอดทาง หากดูจากกราฟจะมีบางช่วงที่ราคามูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) ของ KT-PIF-D นั้นตกลงมา แต่ KT-PIF-A นั้นยังคงขึ้นต่อ

วงแดง ๆ ด้านบนคือ ช่วงเวลาที่ปันผลจ่ายออกมาจะเห็นว่า วงเล็กบ้าง วงใหญ่บ้าง ตามปันผลที่จ่ายออกมาตามตารางด้านล่างนี้

ที่มา https://www.ktam.co.th/mutual-fund-detail-divided.aspx?IdF=21

หากดูจากจำนวนเงินปันผลก็จะได้ชัดว่ามันไม่ได้เท่ากันในแต่ละครั้ง และถ้าดูจากวันที่จ่ายปันผลก็จะเห็นได้ว่าไม่ได้เหมือนกันในทุกปี ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับทีมบริหารกองทุนว่าจะพิจารณาอย่างไร

ส่วนเงินปันผลที่ได้รับมานั้น จะต้องถูกคำนวณเป็นเงินได้ ตอนยื่นภาษีบุคคลธรรมดาด้วยเช่นกัน หรือเลือกตัวเลือกให้ทำการหักหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ไว้ไปเลย (แล้วตอนยื่นภาษีไม่ต้องรวมเงินได้ในส่วนนี้) และรับเงินปันผลมาใช้ 90% นั่นคือ มีเงินปันผล 1,000 บาท รับไป 900 บาท

แต่กองที่สะสมมูลค่า (ไม่ปันผล) หากเราขายกองทุนออกมา 1,000 บาท แบบนี้ไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% รับไปเลย 1,000 บาทตามที่เราขาย  


กองทุนปันผลจะดีเหรอ ?

อ่าน ๆ ดูจากข้างบนแล้วเหมือน กองทุนปันผลจะเสียเปรียบรึเปล่า เงินปันผลแต่ละครั้งที่ได้ก็ไม่แน่นอน ปีนึงจะได้รับกี่ครั้งก็ไม่รู้ รับเงินปันผลออกมาแล้วก็ต้องถูกเสียภาษีอีก

นั่นสิครับ แต่ก็มีหลายคนที่ยังลงทุนกองทุนปันผลอยู่

เท่าที่ผมได้ทราบความเห็นของ #ทีมกองปันผล ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของใจ คือ ระหว่างทางการลงทุนมันมี Return กลับมาให้กระชุ่มกระชวย อย่างน้อยก็ได้มีผลตอบแทนมาบ้าง หรือมันเป็นการช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนอย่างน้อยมีผลตอบแทนกลับมาบ้าง

เรามาดูกันว่า กองทุนปันผลช่วยลดความเสี่ยงได้ยังไง

ผมจะสมมุติว่าเราทำการซื้อ กองทุน KT-PIF-A กับ KT-PIF-D ณ วัน IPO NAV 10 บาทต่อหน่วย จำนวน 100,000 หน่วย หรือคิดเป็นกองละ 1,000,000 บาท และทำการขายคืนทั้งหมดในวันที่ 23 มี.ค. 2020 เพราะกลัวว่าจะขาดทุน ซึ่งดันเป็นวันที่มูลค่ากองทุนต่ำที่สุดซะด้วยสิ

ณ วันที่ 23 มี.ค. 2020 NAV ของกองทุน KT-PIF-A เท่ากับ 10.0532 / กองทุน KT-PIF-D เท่ากับ 7.7846 และมีค่าธรรมเนียมการขายอยู่ที่ 1%

เงินจากการขายกองทุน KT-PIF-A จะอยู่ที่ 995,266.8 บาท

เงินจากการขายกองทุน KT-PIF-D จะอยู่ที่ 770,675.4 บาท
แต่ระหว่างทางได้ปันผลมาแล้ว 2.7 บาทต่อหน่วย ซึ่งเลือกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% รวมแล้วได้ปันผลมาก่อนหน้านี้ 243,000 บาท รวมทั้งหมด 1,013,675.4 บาท

จะเห็นได้ว่า ผลต่างของผลตอบแทนโดยรวมทั้งหมดของการลงทุน KT-PIF-D จะมากกว่า KT-PIF-A อยู่ที่ 18,408.60 บาท

และกลายเป็นว่าการขาย KT-PIF-A ณ วันนั้นก็ทำให้เราขาดทุนซะด้วย


แล้วกองทุนสะสมมูลค่าจะดีเหรอ ?

ดูเหมือนว่ากองทุนปันผลจะดีกว่าแฮะ แล้วกองทุนสะสมมูลค่ามันดียังไง ลองมาดูกันแบบนี้ดีกว่า มาเปลี่ยนวันขายกัน ถ้าเราสามารถผ่านการร่วงลงของราคาในช่วงเดือน มี.ค. 2020 ได้ แล้วถือต่อซักพักมาขายเมื่อวานนี้ (2 มิ.ย. 2020)

ณ วันที่ 2 มิ.ย. 2020 NAV ของกองทุน KT-PIF-A เท่ากับ 12.9215 / กองทุน KT-PIF-D เท่ากับ 10.0057 และมีค่าธรรมเนียมการขายอยู่ที่ 1%

เงินจากการขายกองทุน KT-PIF-A จะอยู่ที่ 1,279,228.5 บาท

เงินจากการขายกองทุน KT-PIF-D จะอยู่ที่ 990,564.3 บาท
แต่ระหว่างทางได้ปันผลมาแล้ว 2.7 บาทต่อหน่วย ซึ่งเลือกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% รวมแล้วได้ปันผลมาก่อนหน้านี้ 243,000 บาท รวมทั้งหมด 1,233,564.3 บาท

กลายเป็นว่า ผลต่างของผลตอบแทนโดยรวมทั้งหมดของการลงทุน KT-PIF-A จะมากกว่า KT-PIF-D อยู่ที่ 45,664.20 บาท

และการขาย KT-PIF-D ณ วันนั้น เราขาดทุนเงินต้นด้วย (แต่ก็ได้ปันผลกลับก่อนแล้ว)


จะเห็นได้ว่า ในช่วงขาลงดูเหมือนว่า กองทุนปันผล โดยรวมแล้วจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า แต่จังหวะที่เป็นขาขึ้นนั้นกองสะสมมูลค่ากลับให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
ซึ่งเอาจริง ๆ แล้วเราก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าในภายภาคหน้ามันจะมีขาลงอีกเมื่อไหร่ แล้วจะขึ้นเมื่อไหร่


แล้วแบบนี้เราจะเลือกกองทุนปันผลหรือแบบสะสมมูลค่าดี ?

ผมว่าคำตอบของคำถามนี้ ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ว่ามีเป้าหมายการลงทุนอย่างไร สามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญคือแผนการลงทุนเป็นอย่างไร

ในความเห็นผม ผมคิดว่า หากเป้าหมายการลงทุนของเรามีระยะเวลายาวและเราทนต่อความผันผวนของการลงทุนได้ การเลือกกองทุนแบบสะสมมูลค่าก็ดูน่าสนใจกว่า เพราะระหว่างทางเราก็สามารถทยอยขายนำกำไรออกมาใช้ได้ และไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย จัดการผลตอบแทนด้วยตัวเราเอง

แต่ถ้าเราไม่อยากที่จะมาติดตามแนวโน้มหรือ NAV ว่าเมื่อไหร่จะทยอยขายออกมา และอยากได้ผลตอบแทนกลับมาเรื่อย ๆ ก็คงต้องเลือกกองปันผลที่ทีมบริหารกองทุนพิจารณาให้ว่าจะได้เมื่อไหร่ แล้วก็รับมาตามนั้นสบายใจไม่ต้องติดตามอะไร รอดูเงินเข้าบัญขีอย่างเดียว

ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับเรา ที่เป็นผู้ลงทุน ว่ามีแนวทางในการลงทุนอย่างไร เพื่อตอบวัตถุประสงค์การลงทุนของเราที่ตั้งไว้ก่อนเริ่มลงทุน ลองกลับมาทบทวนดูครับ

Facebook Comments