Categories
Blog

มนุษย์เงินเดือนอย่างเรา เงินเข้าแล้ว แบ่งยังไงดี ?

วันนี้ขอมาแชร์ไอเดียหน่อย ว่ามนุษย์เงินเดือนอย่างเรา เวลามีเงินเดือนเข้ามาแล้ว จะแบ่งยังไงดี

หลักการการบริหารการเงินง่าย ๆ คือ แบ่งเงินออกเป็น 2 ส่วน คือ เงินออม กับเงินใช้จ่าย

เงินเข้าแล้ว แบ่งยังไงดี


ฝั่งของเงินออม

เมื่อมีรายได้เข้ามา ควรเก็บเป็นเงินออม ไม่น้อยกว่า 10% ของเงินที่รับมา หักเข้ามาก่อนเลย และแบ่งออกเป็น 2 บัญชี ซึ่งเป็นบัญชีที่ ไม่ทำ ATM / ไม่ผูกกับ Mobile Banking 

 

ส่วนแรก เป็นบัญชีเงินสำรองฉุกเฉิน เพื่อเก็บไว้ใช้จ่ายยามเกิดเหตุไม่คาดฝัน แล้วต้องนำเงินมาใช้เช่น ตกงานกระทันหัน เกิดอุบัติเหตุ น้ำท่วมต้องซ่อมแซ่มบ้าน/รถ เป็นต้น

เงินก้อนนี้ ควรเก็บให้มีขนาดไม่ต่ำกว่า 6-12 เดือนของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เป็นเงินออมก้อนแรกที่ควรเก็บให้ครบกำหนด จากนั้นเมื่อครบแล้วค่อยทบไปที่เงินส่วนถัดไป

 

ส่วนที่ต่อมา เป็นบัญชีเงินฝาก ไว้สำหรับพักเงิน เพื่อที่จะได้นำเงินส่วนนึงของก้อนนี้ไปลงทุน สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับเรา หรือนำไปลงทุนเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม

 

ในส่วนของเงินลงทุนนั้น จะเป็นเงินที่เราสามารถที่จะรับความเสี่ยงได้สูง เพราะ “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน” แต่เมื่อเราศึกษามาดี ได้ผลตอบแทนที่ดี เราก็สามารถนำผลตอบแทนนั้น กลับมาลงทุนอีกครั้ง หรือ นำไปเพิ่มเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินของเราก็ได้

 


ฝั่งของเงินใช้จ่าย

หลังจากที่เราหักเงินเดือนที่เราได้รับมา เก็บเข้าไปกับเงินออม ที่เหลือก็เป็นเงินสำหรับการใช้จ่าย

โดยฝั่งนี้ ควรแบ่งบัญชีออกเป็น 2 ส่วนเช่นกัน และผูกกับ Mobile Banking ทั้งสองบัญชี

 

ส่วนแรก เป็นบัญชีที่สมัครบัตร ATM เพื่อไว้กดเงินสด สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ซื้อของกิน ของใช้ ค่าเดินทาง แค่นี้พอ ส่วนที่เหลือแบ่งไว้เป็นส่วนที่สอง

ฉะนั้นเงินที่โอนเข้าบัญชีนี้ ไม่จำเป็นต้องเยอะมากก็ได้ และสิ้นเดือนถ้าเงินในบัญชีนี้เหลือ ให้ทำการเคลียร์ยอดให้เป็น 0 บาท โดยการโอนเงินเข้าบัญชีในส่วนที่สอง

 

ส่วนที่สอง เป็นบัญชีสำหรับค่าใช้จ่ายพิเศษ คือ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เหลือทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ค่าน้ำไฟโทรศัพท์อินเทอร์เน็ต Netflix ผ่อนบ้านรถ ค่าประกัน ค่าบัตรเครดิต หาหมอ ฯลฯ

ถ้าสะดวกใจ ค่าใช้จ่ายไหนเป็นค่าใช้จ่ายประจำให้ทำการหักผ่านบัญชีอัตโนมัติได้เลย และบัญชีนี้เป็นบัญชีที่เราควรเข้ามายอดเงินให้บ่อยๆ หรือเข้ามาดูทุกครั้งที่คิดจะใช้จ่ายอะไรเป็นพิเศษ เพื่อดูว่า เรามีงบประมาณพอไหมสำหรับการใช้จ่ายเงินครั้งนี้

 


ยกตัวอย่างการแบ่งสัดส่วนเงิน

สมมุติว่าได้รับเงินเดือน เดือนละ 25,000 บาท (หักภาษี ประกันสังคมเรียบร้อยแล้ว) แบ่งเป็นเงินออม 5,000 บาท โอนเข้าบัญชีเงินสำรองฉุกเฉิน 3,000 บาท อีก 2,000 บาท โอนเข้าบัญชีเงินฝาก อีก 20,000 บาท แบ่งเป็นโอนเงินเข้าบัญชี ATM 8,000 บาท และ 12,000 บาท เก็บไว้ที่บัญชีใช้จ่ายพิเศษ

จากตัวอย่างข้างบนจะเห็นได้ว่า เราแบ่งค่าใช้จ่ายไว้เดือนละ 20,000 บาท เพราะฉะนั้น 6 เดือน คือ 120,000 บาท นี่คือจำนวนเงินสำรองฉุกเฉินที่เราควรเก็บไว้ให้ได้ก่อน

เมื่อเราแบ่งเงินเข้าบัญชีเงินสำรองฉุกเฉินครบ 120,000 บาท (เก็บเดือนละ 3,000 บาท ใช้เวลาประมาณ 3 ปี 4 เดือน) เดือนต่อมา เงินออม 3,000 บาทนี้ ก็โอนไปยังบัญชีเงินฝากได้เลย เพราะเงินก้อนนี้เต็มโควต้าแล้ว

 


สรุป

อย่างน้อยๆ ผมคิดว่า เราควรจะแบ่งเงินออกเป็น 4 บัญชี

1. บัญชีเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน เมื่อได้เงินมาพยายามเก็บเข้าก้อนนี้ก่อน เพื่อให้พอใช้จ่ายสำหรับ 6-12 เดือน ยามเกิดเหตุฉุกเฉิน (No ATM, No Mobile Banking)

2. บัญชีเก็บเงินฝากพักเงินไว้สำหรับ การลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนหรือเพิ่มรายได้ให้กับเรา (No ATM, No Mobile Banking)

3. บัญชีผูกบัตร ATM ใช้จ่ายทั่วไป สิ้นเดือนเหลือโอนเข้าไปเป็นโควต้าสำหรับค่าใช้จ่ายพิเศษ (ATM, Mobile Banking)

4. บัญชีค่าใช้จ่ายพิเศษ คือบัญชีเก็บเงินรอจ่าย ค่าต่าง ๆ ทั้งหมดที่เหลือ (Credit Card, Mobile Banking) อย่าลืมเข้ามาเช็คยอดบ่อย ๆ นะสำหรับบัญชีนี้

 

ในช่วงเดือนแรก ๆ ที่ทำ อาจจะงงๆ กันหน่อย แต่ทำได้ไป 2-3 เดือนจะเริ่มชิน และการเงินของเราจะเป็นระบบยิ่งขึ้น

ยังไงขอฝากไอเดียนี้ไปปรับใช้กันดูนะครับ

 

Facebook Comments